ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร

ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร

ประวัติความเป็นมา
  •     ปี 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ขั้นโดยให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
        พัฒนาโครงการ และรับผิดชอบงาน
  •     ปี 2534 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ
        พระบรมราชินีนาถ พระชนมพรรษา 5 รอบ กำหนดกรอบงบประมาณโครงการ 650 ล้านบาท
  •     ปี 2535 ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่ก่อสร้าง ศึกษารูปแบบการบริหารจัดทำแผนแม่บท
  •     ปี 2537 เริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ งบการดำเนินการ 514.29 ล้านบาท
  •     ปี 2538 คณะรัฐมนตรีอนุมัติ พระราชกำหนด จัดตั้ง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์(อพวช.)ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา
        เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ อพวช. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538
  •     ปี 2540 เริ่มงานออกแบบ จัดทำ และติดตั้งนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
        และอาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
  •     ปี 2543 เปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2543

วัตถุประสงค์
  •     เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนา
        เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบท
  •     เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อ การพัฒนาประเทศ และปลูก
        ฝังให้เยาชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  •     เพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินของครอบครัว รวมทั้งเป็นแหล่งท่อง เที่ยวของนักท่องเที่ยว
        ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ 

บทบาทหน้าที่ สิ่งที่ให้กับประชาชน
          อพวช. เป็น
  •      แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning)
  •     แหล่งสาระบันเทิง (Edutainment)
  •     แหล่งพัฒนาวิชาชีพ (Career Development)
  •     แหล่งท่องเที่ยวอย่างมีสาระ (Edu-tourism Attraction) 
          หลังจากการรับมอบโอนงานระยะเริ่มแรกจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯอพวช.ได้จัดทำแผนขึ้นเป็นครั้งแรก
และได้ดำเนินการจนถึงปี 2540 ในช่วง10 ปี ต่อจากนี้ไปอพวช.จึงได้กำหนด กรอบแผน
รวมขึ้นเพื่อใช้เป็น คู่มือในการดำเนินงาน ดังนี้
           1. จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในภาคกลาง  ในเขตจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ บริเวณเทคโนธานี
ตำบลคลอง 5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จะมีพิพิธภัณฑ์และศูนย์ต่างๆ 
ดังนี้
                 -  พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีเนื้อที่ 18,000 ตร.ม. เปิดบริการแล้ว
                 -  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มีเนื้อที่ 3,000 ตร.ม. เปิดบริการแล้ว
                 -  พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ มีเนื้อที่ 9,300 ตร.ม. เปิดบริการแล้ว
              
           2. การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่อื่นๆ
                     -   จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กทม. เปิดบริการแล้ว
 ก้าวต่อไปของพิพิธภัณฑ์
1. โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า
princess
วันที่ 8 สิงหาคม 2559 อพวช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
มาทรงวางศิลาฤกษ์ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Rama IX Ecology Museum” จะถูกเนรมิตขึ้นบนเนื้อที่
42 ไร่ หรือ 30,000 ตารางเมตร ของ อพวช. ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งเดียวกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่เดิม โดยจะอยู่ในบริเวณพื้นที่เชื่อมต่อกับสระเก็บน้ำพระรามเก้า ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,800 ไร่
ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริด้านบริหารจัดการน้ำ ด้วยอาณาบริเวณพื้นที่ขนาดใหญ่ “พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” จึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด
ในทวีปเอเชียและใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่จะจัดสร้างเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2550 ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,890 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557

ในการดำเนินการก่อสร้างภายใต้หัวข้อหลักในการนำเสนอ คือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” เพื่อแสดงให้เห็นถึง
หลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงนำไป
แก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ อันเป็นการแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของปวงชนชาวไทยและแสดง
ถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นทั้งพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย, พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
และได้รับการถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยชาติ” พระองค์แรกของโลก จากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกใน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวบรวมนำเสนอข้อมูลทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้ง การจัดแสดงระบบนิเวศ
ของไทยและของโลกที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ อพวช. จะเป็นศูนย์กลางในการจัดแสดงนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก
การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2558 โดยในปีงบประมาณ 2559
มีความก้าวหน้าของการก่อสร้างมากกว่าร้อยละ 20 ของแผนการก่อสร้าง ซึ่งการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2561
image003image004

2. โครงการศูนย์รวบรวมองค์ความรู้และจัดแสดงการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ
ศูนย์รวบรวมองค์ความรู้และจัดแสดงการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นศูนย์วิจัย จัดแสดงนิทรรศการ จัดกิจกรรม
และเก็บรวบรวมตัวอย่างอ้างอิง เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการพัฒนาการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ
และการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับประชาชนทั่วไป โดยนำเสนอในรูปแบบการสาธิต สื่อผสม แบบจำลอง รวมทั้งการฝึกอบรม
การเผยแพร่สิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสารสนเทศ ที่มีความน่าสนใจและประทับใจ เกิดการนำองค์ความรู้
ที่ได้รับไปใช้ในการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัย
และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยวิจัย
และศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั่วประเทศดังนี้
1.1 เป็นศูนย์วิจัย แสวงหา รวบรวม จัดแสดง และเผยแพร่ความรู้ด้านการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
1.2 เป็นศูนย์ฝึกอบรมและบริการสารสนเทศด้านการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
1.3 เป็นศูนย์ส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่
1.4 เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาการ
ผลิตและคุณภาพชีวิต รวมถึงให้นักวิจัยนำไปวิจัยพัฒนาต่อยอด
image008


3.โครงการพิพิธภัณฑ์นวัตกรรม
พิพิธภัณฑ์นวัตกรรม เป็นแหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยและของโลก ที่เหมาะสมกับผู้เข้าชมทุกเพศ
ทุกระดับการศึกษา และทุกระดับอายุ เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์ด้านการ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและ
สร้างสรรค์นวัตกรรมกับบุคลากร ผู้ประกอบการ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและ เอกชน เพื่อสร้างประสบการณ์ แก่เยาวชนในเรื่องอาชีพ
ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อค้นพบตัวเองและพิจารณาถึงการเลือกศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นสถานที่
สำหรับการแสดง ผลงานวิจัย-พัฒนา ต้นแบบของนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ภาคเอกชนหรือภาครัฐ นำไปประยุกต์ใช้ พัฒนาต่อยอด
หรือนำสู่การประกอบการเชิงธุรกิจต่อไป
ในปีงบประมาณ 2559 อพวช. ได้ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทศึกษาความเป็นไปได้ และการออกแบบรายละเอียดอาคาร
และนิทรรศการของโครงการ และเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบการลงทุน
โครงการพิพิธภัณฑ์นวัตกรรม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559
image009


วิสัยทัศน์ 
เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตชั้นนำในอาเซียน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
         
พันธกิจ          
ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ด้วยการ
๑. พัฒนาและให้บริการนิทรรศการ และกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้และช่องทางการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ
๒. ศึกษาวิจัยและรวบรวมวัสดุตัวอย่าง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธรรมชาติวิทยา
๓. วิจัย พัฒนา และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์
๔. พัฒนาธุรกิจและระบบการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ค่านิยม
NSM
Nature and Science Appreciation : รักวิทยาศาสตร์และใส่ใจธรรมชาติ
Service Mind : มีใจบริการ
Manage Professionally : บริหารจัดการอย่างมืออาชีพ